ที่มา ข้อมูลเบื้องต้น ความสำคัญของปัญหาโดยปกติแล้ว ผลไม้เมื่อเก็บเกี่ยวแล้วตั้งทิ้งไว้ระยะเวลาหนึ่งจะเกิดการเหี่ยวเฉา และเน่าเสียตามธรรมชาติ เนื่องจากมีน้ำเป็นองค์ประกอบหลัก และมีสารอาหารที่จุลินทรีย์ชอบอยู่เป็นจำนวนมาก แม้ว่าผลไม้เหล่านั้นจะมีกระบวนการป้องกันการสูญเสียน้ำและการเข้าทำลายของเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรคด้วยการผลิตฟิล์มบางๆ คล้ายไขเคลือบผิวอยู่ แต่สารเคลือบผิวเหล่านี้จะค่อยๆ สลายไปตามธรรมชาติ มะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้เป็นผลไม้ที่มีศักยภาพในการทำตลาดทั้งในและต่างประเทศ แต่มีอายุการเก็บรักษาและการวางจำหน่ายสั้น การใช้สารเคลือบผิวจึงเป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะสามารถยืดอายุการเก็บรักษามะม่วงได้ กรมวิทยาศาสตร์บริการ โดยสำนักเทคโนโลยีชุมชน ได้คิดค้นเทคโนโลยีการจัดการผลผลิตหลังการเก็บเกี่ยว ด้วยกระบวนการเคลือบผิวผลไม้เพื่อชะลอการคายน้ำ เป็นการเคลือบผิวผลไม้ด้วยสารที่มีฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรค ช่วยยืดอายุผลผลิตหลังเก็บเกี่ยว และเป็นสารเคลือบผิวผลไม้บริโภคได้ เพื่อลดความเสี่ยงของผู้บริโภคที่จะได้รับสารพิษ ทั้งจากตัวสารเคลือบผิวเอง และจากสารฆ่าแมลงที่ตกค้าง
สรุปเทคโนโลยีสารเคลือบผิวมะม่วงที่พัฒนาขึ้นผ่านการตรวจสอบจากสถาบันกลางและศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ แล้วว่าไม่มีอันตรายต่อผู้บริโภค ไม่มีผลต่อสุขภาพแม้รับประทานทั้งเปลือก เพราะสารเคลือบผิวที่พัฒนาขึ้นนี้ใช้ส่วนประกอบจากธรรมชาติทั้งหมด และนอกจากเคลือบเพื่อความสวยงาม ยืดอายุ ชะลอการสุก ยับยั้งการเจริญของเชื้อจุลินทรีย์แล้ว ค่าความหวานและค่าความเป็นกรดด่าง ก็ไม่แตกต่างไปจากมะม่วงธรรมดา ที่สำคัญมีราคาถูกกว่าแวกซ์ที่ใช้ในการเคลือบผิวตามวิธีเดิมหลายเท่า